"ในที่สุดออสคาร์ (ชินด์เลอร์) ก็แตะที่ข้อมือทิตซ์ เราใส่ชื่อคนมากไปแล้ว เขาบอกพวกนั้นจะคัดค้านจำนวนคนที่เราลงชื่อไปนี้ ทิตซ์ยังพยายามอย่างหนักที่จะเค้นชื่อออกมา แล้วพรุ่งนี้เช้าเขาก็ตื่นมาสบถตัวเองที่นึกชื่อใครบางคนออกช้าเกินไป แต่ตอนนี้ถึงเส้นตายแล้ว งานนี้บีบคั้นเขา มันเป็นการดูหมิ่นพระผู้เป็นเจ้า แทบจะเป็นการสร้างคนขึ้นใหม่ด้วยการแค่นึกถึงพวกเขาเท่านั้น ทิตซ์ไม่ได้ลังเลที่จะทำ โลกจึงเป็นอย่างที่เขาพูดกันว่ามันเป็น นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้อากาศภายในอพาร์ตเมนต์ของชินด์เลอร์อึดอัดจนทิตซ์หายใจลำบาก"
Schindler's list/บัญชีช่วย 1,200 ชีวิตของชินด์เลอร์ ผลงานของ Thomas Keneally แปลโดย กรรณิการ์ พรมเสาร์
เล่มนี้เล่าถึงว่าชายเยอรมันเจ้าสำราญ 1 คน ผู้เป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม กับพรรคพวกอีกหยิบมือนึง สามารถช่วยเหลือชาวยิว 1,200 คนได้อย่างไรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
จากคำนำ ผู้เขียนบอกว่าเป็นนิยายที่อ้างมาจากเรื่องจริง อ่านแล้วนี่ก็ยังคิดว่าเป็นเรื่องจริงทั้งหมดเลยค่ะ
เรื่องเริ่มจากพื้นเพความเป็นมาของนายออสคาร์ ชินด์เลอร์ ว่าเป็นเจ้าของโรงงานผลิตสิ่งของต่างๆ ที่เมืองคราครูฟ ประเทศโปแลนด์ แล้วก็ได้เข้ามาเกี่ยวข้องเจรจาธุรกิจกับร้อยเอกอามอน เกิท ผู้บัญชาการค่ายพลัวชูฟ ผู้ที่สามารถสั่งชี้เป็นชี้ตายกับชาวยิวได้ในทันที
ระหว่างสงคราม ชินด์เลอร์ได้เห็นเหตุการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ทหารเยอรมันทำทารุณอย่างไร้มนุษยธรรมกับชาวยิว (หลายฉากเลยที่น่าสงสารมากๆ อ่านแล้วต้องพักบ้างก็มี) เค้ากับพรรคพวกที่เป็นคนเยอรมันบางคน ก็พยายามช่วยเหลือชาวยิวมาตลอด ได้มากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่สถานการณ์ ชินด์เลอร์ตั้งโรงงานผลิตเครื่องใช้ในครัวเรื่อยไปจนถึงผลิตกระสุนปืน โดยอ้างว่า เค้าจำเป็นต้องใช้แรงงานยิวที่มีความสามารถพิเศษที่เค้าฝึกเรียบร้อยแล้ว เป็นผลทำให้ชาวยิวบางส่วนไม่ต้องเข้าไปอยู่ในค่ายพลัวชูฟ และไม่ต้องพบกับชะตากรรมที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ในค่ายแห่งนั้น ระหว่างทางในการเจรจาต่อรองเพื่อช่วยเหลือชาวยิวทุกครั้ง ชินด์เลอร์ได้ติดสินบนมากมายกับเจ้าหน้าที่ทหารของเยอรมัน (อ่านแล้วสงสัยว่าทำไมชินด์เลอร์นี่รวยจัง) ทั้งเงิน สิ่งของ อัญมณีต่างๆ เพื่อทำให้เค้าสามารถช่วยชาวยิวได้
หลังจากนั้นมีเหตุที่จะต้องยุบค่ายพลัวชูฟ ดังนั้นทางการจึงจะต้องส่งนักโทษชาวยิวไปตามค่ายกักกันอื่นๆ เช่น ค่ายเอาชวิตซ์-เบียร์เคอเนา จึงเป็นที่มาของการต่อรองอีกครั้งของชินด์เลอร์ที่เค้าอยากจะย้ายไปสร้างโรงงานผลิตกระสุนปืนที่บรินน์ลิตซ์ โดยขอให้มีคนงานชาวยิวของเค้ากับครอบครัวไปด้วย 1,200 คน
และแล้วแผนของเค้าก็สำเร็จด้วยความทุลักทุเล กว่าจะได้ชาวยิวและครอบครัวครบตามรายชื่อที่เค้าจดไว้ ช่วงระหว่างนั้น โรงงานเค้าก็ผลิตอาวุธ กระสุนปืนที่ไร้ประสิทธิภาพ และโดนเพ่งเล็งจากทางการเยอรมันบ่อยครั้ง แต่ทุกครั้งชินด์เลอร์ก็สามารถลื่นไหล รอดตัวออกมาได้ และมีความภูมิใจที่เค้าไม่ได้ผลิตอาวุธที่จะไปฆ่าใครได้
หลังจากนั้นไม่นาน เยอรมันก็แพ้สงคราม และชาวยิวเหล่านั้นก็แตกกระจายอพยพไปอยู่อีกหลายประเทศ ส่วนตัวชินด์เลอร์ ก็มีชีวิตหลังสงครามแบบลุ่มๆ ดอนๆ เพราะทรัพย์สินของเค้าถูกทางการรัสเซียยึดไปหมด และสุดท้ายเค้าก็ได้รับการช่วยเหลือจากชาวยิวที่เค้าเคยช่วยเหลือไว้
ชินด์เลอร์ เสียชีวิตในวันที่ 9 ตุลาคม 1974
ต้องขอนับถือความกล้าและความมุ่งมั่นของชินด์เลอร์จริงๆ เลยค่ะ
"Whoever saves one life saves the world entire"
留言