ผลงานของ Yuval Noah Harari แปลโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์
ต้องออกตัวก่อนว่ายังไม่เคยอ่าน Sapiens และ Homo Deus ฉบับเต็ม แต่อ่าน 21 lessons for the 21st century แล้ว แต่ก็ยังไม่ค่อยประทับใจ
เล่ม 1 Sapiens: A Graphic History: The Birth of Humankind/กำเนิดแห่งมนุษยชาติ
เป็นเล่มที่เล่าถึงกำเนิดของมนุษย์ Homo sapiens (จริงๆ ถ้าจะเขียนให้เต็มคือ Homo sapiens sapiens ชื่อ sapiens ตัวหลัง บ่งบอกถึงชนิดย่อย (subspecies) คือ มนุษย์เน้นย้ำว่า ตนเองฉลาดยกกำลังสอง ช่างมีความอหังการ์มากจริงๆ) เรื่อยมาถึงท้ายเล่มที่พูดถึงการที่มนุษย์ทำลายล้างสัตว์ประจำถิ่นต่างๆ จนเกือบจะหมดสิ้นไป ระหว่างทางของเล่มนี้ เล่าว่า มนุษย์ชนิดอื่น หรือ species อื่นหายไปได้อย่างไร ระหว่างการอยู่ร่วมกันจนเกิดการ blend หรือการรวมกันของจีโนม (สารพันธุกรรมทั้งหมดที่มีอยู่ในเซลล์) หรือการที่ sapiens ขับไล่/ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ species อื่นจนหมดไป ตามด้วยการวิวัฒน์ของมนุษย์ว่ามีการรวมกลุ่มกันได้อย่างไร ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าการ "แต่งเรื่อง" เพื่อให้คนหมู่มากเชื่อในเรื่องเดียวกันมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มากเพียงใด
โดยรวม ชอบเนื้อหาในเล่มนี้ ให้ความรู้ได้เป็นอย่างดี แม้จะไม่ได้ครอบคลุมรายละเอียดได้ทั้งหมด แต่แอบรู้สึกอึดอัดช่วงท้ายของเล่มในวิธีการนำเสนอ ที่จัดฉากว่ามนุษย์ 2 คนเป็นจำเลยถูกไต่สวนในเรื่องการทำลายล้างต่างๆ แต่สุดท้ายก็คือพวกเราทุกคนนั่นเอง
เล่ม 2 Sapiens: A Graphic History: The Pillars of Civilization/เสาหลักแห่งอารยธรรม
เล่ม 2 เล่าถึงการเริ่มอยู่กับที่ของ Homo sapiens และเริ่มเกิดการปฏิวัติเกษตรกรรม การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ มีผลทำให้ความสุขเราลดลง แทนที่จะได้ท่องเที่ยวย้ายถิ่นฐานอย่างแบบเก่า แนวคิดต้านการดื่มนมวัวก็มา และก็เน้นย้ำขยายความการแต่งเรื่องเพื่อสร้าง "แบบแผนในจินตนาการ" ร่วมกันอีกครั้ง หลังตากที่ได้กล่าวไปแล้วในเล่ม 1 การถ่ายทอดข้อมูลที่เปลี่ยนผ่านจากการบอกเล่าสู่การเขียนบันทึกต่างๆ เรื่อยมาถึงสังคม สิทธิ เสรีภาพและการแบ่งชนชั้นของมนุษย์ว่าเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และเราก็เปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ได้
ส่วนตัวคิดว่าผู้เขียนมีความคิดด้านลบต่อการปฏิวัติเกษตรกรรมมากเกินไป เหมือนกับบอกว่ามนุษย์ในอดีตเป็นผู้สร้างปัญหาที่เรามีอยู่ในตอนนี้ ซึ่งถ้าคิดอีกมุมแล้ว ถ้าไม่มีปฏิวัติทางการเกษตรแล้ว ส่วนตัวก็ยังนึกไม่ออกว่าเราจะเป็นอย่างไร อาจจะยังต้องเร่ร่อนท่องเที่ยวไปเหมือนมนุษย์รุ่นแรกๆ นั่นเอง ส่วนเรื่องที่กล่าวถึงสิทธิ เสรีภาพ ชนชั้น การเรียกร้องความเท่าเทียมกัน ส่วนตัวอ่านแล้วยังไม่ว้าวในการนำเสนอของผู้เขียน ดังนั้นก็จะชอบเล่ม 1 มากกว่าเล่ม 2 ในแง่เนื้อหาข้อมูลความรู้ต่างๆ แต่สิ่งที่ชอบที่สุดในเล่ม 2 คือตอนท้ายของเล่มว่า มนุษย์เป็นผู้สร้างเรื่อง สร้างความเชื่อ สร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้มนุษย์มีพลังที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากเห็นว่า เรื่อง ความเชื่อ และกฎเกณฑ์เหล่านั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไป
โดยรวม คิดว่าเนื้อหาข้อมูลที่ผู้เขียนนำเสนอมีความน่าสนใจ ผูกเรื่องได้เป็นอย่างดี แม้อาจจะไม่ครอบคลุมเรื่องทางประวัติศาสตร์ทั้งหมด (ซึ่งทำได้ยากมาก) แต่ส่วนการวิเคราะห์ของผู้เขียนในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่างๆ และในสังคมปัจจุบัน ในบางครั้ง ส่วนตัวคิดว่ายังไม่ตื่นเต้นเท่าไหร่
สำหรับคำถามว่าเด็กอ่านได้ไหม คิดว่าบางช่วงเนื้อหาหนักไปสำหรับเด็กประถม/มัธยมต้น แต่ถ้าระดับมัธยมปลายขึ้นไป น่าจะโอเคเลยค่ะ
ฉบับกราฟิก เท่าที่หาข้อมูลได้ จะมีทั้งหมด 4 เล่ม และตัวเองก็จะติดตามเล่ม 3 และ 4 ต่อไปค่ะ
Comments