รอบนี้ขอป้าย 3 เล่มพร้อมกันค่ะ
The broken ladder/เมื่อบันไดหัก มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา ผลงานของ Keith Payne แปลโดย วิทย์ วิชัยดิษฐ
เล่มนี้โดยรวมถือว่าถูกใจ แม้ว่าเนื้อหาจะเหมือนว่าเรารู้อยู่แล้วว่าปัญหาของความเหลื่อมล้ำเกิดจากอะไร และจะนำไปสู่อะไรบ้าง
ผู้เขียนบรรยายแต่ละประเด็นได้ดีทีเดียว แต่ช่วงแรกเหมือนเขียนวนไปมานิดหน่อย มีการยกข้อมูลความสัมพันธ์ของความเหลื่อมล้ำกับปัญหาต่างๆ ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น การเปรียบเทียบรายได้ของผู้คนว่าบันไดของรายได้ขั้นแรกกับขั้นสุดท้ายห่างกันมากแค่ไหน และเมื่อบันไดหัก มันนำไปสู่เรื่องอะไร
ส่วนตัวชอบบทที่ 4 มากสุด อ่านสนุก พูดถึงเรื่องฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ว่ามีพฤติกรรมอย่างไร งานวิจัยที่ยกมาก็สนุกดีค่ะ เรื่อยไปถึงการที่งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า การเปิดเผยเงินเดือนของผู้บริหารอย่างตรงไปตรงมา ทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้น จนผู้บริหารบางคนสนใจไอเดียที่จะลดเงินเดือนของตัวเองเลย ดังนั้น เล่มนี้ชี้ให้เห็นว่า หากลดความเหลื่อมล้ำลงได้ ปัญหาที่มีอยู่ตอนนี้น่าจะพอทุเลาลงบ้าง
เลยเป็นที่มาของการป้ายเล่มที่ 2
The most good you can do/จริยศาสตร์แห่งการช่วยเหลือผู้อื่น ผลงานของ Peter Singer แปลโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ พชร บุญผาติ
เล่มนี้เนื้อหาเล่าถึงความศรัทธาแห่งความพอ และส่วนที่เกินจากความพอ ก็แบ่งปันให้ผู้อื่น ส่วนใหญ่ยกเคสต่างๆ ของผู้บริจาคเงินช่วยเหลือทางด้านต่างๆ โดยผู้เขียนเหมือนจะแนะนำว่า ถ้าสามารถทำได้ ก็อาจจะกันเงินรายได้ 10% เพื่อการช่วยเหลือผู้อื่น รวมถึงบริจาคให้กับองค์กรการกุศลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะบางคนถึงกับบริจาค 50% เลยทีเดียว เล่มนี้ ส่วนตัวอ่านแล้วยังไม่ค่อยว้าวเท่าไหร่ แต่ได้ไอเดียแห่งการให้ได้พอสมควรเลย
เลยมาถึงเล่มที่ 3
Social startup success/สู่ความสำเร็จ สตาร์ทอัพเพื่อสังคม ผลงานของ Kathleen Kelly Janus แปลโดย ลลิตา ผลผลา
เล่มนี้ อ่านแล้วชอบค่ะ เล่าถึงว่าถ้าเราอยากคิดโครงการที่จะช่วยเหลือสังคมขึ้นมาซักโครงการหนึ่ง เราควรจะต้องทำอย่างไรบ้าง การวางแผน การเก็บข้อมูล การเริ่มต้นโครงการอย่างจริงจัง ที่สำคัญคือ ความโปร่งใส การเงินต้องมีการตรวจสอบได้ ตอนนี้ในไทยที่ตนเองรู้จักและเคยส่งโครงการด้วยคือ มูลนิธิเทใจ ซึ่งเป็นสื่อกลางช่วยประชาสัมพันธ์ และดูแลเรื่องความโปร่งใสของโครงการ และเจ้าหน้าที่ประสานงานน่ารักมากค่ะ
บางคนอาจคิดว่าปัญหาสังคมต้อง "รอ" ให้รัฐบาลแก้ไข แต่แน่นอนว่าบางปัญหาก็ยังคงอยู่เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง ส่วนตัวคิดว่า ในบางครั้งหากเราเห็นปัญหาและคิดอยากช่วยเหลือ บางทีไอเดียของเราอาจจะเข้าท่า และถ้าได้ลองทำ ก็อาจจะเข้าทีและช่วยแก้ไขปัญหาได้บางส่วน ที่สำคัญที่สุดคือ ความสุขใจที่ได้ทำค่ะ
Comments