top of page

The glass bead game/เกมลูกแก้ว

เล่มนี้ ในบางตอนอ่านแล้วเหมือนเห็นตัวเอง และแอบเชื่อเล็กๆ ว่า บางท่านที่ผ่านชีวิตมาช่วงหนึ่งแล้ว พอได้อ่านเล่มนี้ ก็น่าจะคิดเหมือนกัน


ผลงานช่วงท้ายของชีวิตของเฮอร์มานน์ เฮสเส แปลโดย อ.สดใส



คล้ายกับว่าเฮสเสสร้างคาสทาเลีย ให้เป็นเหมือนยูโทเปียขึ้นมา เป็นอาณาจักรที่เพียบพร้อมไปด้วยผู้คนที่ถูกคัดเลือก ผู้คนที่เป็นเลิศในแขนงต่างๆ ทั้งทางด้านวิชาการและด้านจิตวิญญาณ และโยเซฟ คเนชท์ ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกเลือก


เนื้อเรื่องเริ่มตั้งแต่เล่าถึงชีวิตของเด็กชายคเนชท์ ผู้มีพรสวรรค์ทางด้านดนตรี และได้รับการคัดเลือกให้เข้าเรียนต่อในเมืองหนึ่งของคาสทาเลีย คเนชท์เติบโตขึ้นมาในอ้อมกอดของอาณาจักรนี้ บางครั้งก็ได้รับรู้เรื่องราวของโลกภายนอกจากเพื่อนนามเดสิญอรี พลินิโอ ที่มาเป็นนักเรียนชั่วคราว มาเล่าให้ฟัง วันคืนเลื่อนผ่าน จนคเนชท์ผู้เพียบพร้อมได้รับคัดเลือกให้เป็นนายแห่งเกมลูกแก้ว ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุด และทรงเกียรติที่สุดสำหรับเขา หน้าที่ของเค้ามีร้อยแปดพันเก้า ที่จะต้องทำให้เกมลูกแก้วยังคงความเป็นหนึ่งเดียวของศาสตร์และศิลป์ และก็อยากจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป


แต่แล้วเสียงภายในของคเนชท์ ก็กลับเจอว่า การเป็นนายแห่งเกมลูกแล้ว การมีชื่อเสียง การเป็นผู้รู้ในศาสตร์ต่างๆ มากมาย สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เค้าแสวงหา คเนชท์มีความสุข สงบทุกครั้ง ที่ได้เห็นตัวเองสอนเด็กๆ ให้ได้รู้ในเรื่องต่างๆ ดังนั้น แผนการที่จะออกจากการเป็นนายแห่งเกมลูกแก้ว ออกจากคาสทาเลียจึงผุดขึ้นมา และสุดท้ายคเนชท์ก็ทำได้สำเร็จ และได้พบกับความสุขสงบที่แท้จริง


ส่วนตัวเห็นว่า บทสุดท้าย บทที่สิบสอง ตำนาน เป็นบทที่เฮสเสใช้พลังอย่างมากในการเขียน ช่วงที่คเนชท์โต้ตอบกับอเล็กซานเดอร์ ประธานแห่งนิกาย ถึงเหตุผลว่าทำไมจะต้องออกไปจากคาสทาเลียแบบไม่ย้อนกลับมาอีก อ่านแล้ว "อิ่ม" มากๆ เลยค่ะ


ไม่สงสัยเลยว่าทำไมคนพูดถึงเรื่องนี้เยอะมาก ส่วนตัวเป็นเล่มที่ใช้เวลาอ่านนานกว่าเล่มอื่น และเป็นเล่มที่ตอกย้ำกับสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ


หากจะให้นิยามของเรื่องนี้สั้นๆ คือ

"สูงสุดคืนสู่สามัญ" ที่แท้จริงค่ะ

0 views0 comments

Comments


bottom of page