ผลงานของ John Steinbeck แปลโดยคุณณรงค์ จันทร์เพ็ญ
คิดว่าเล่มนี้ไม่ได้สะท้อนแค่สังคมของคนอเมริกันเท่านั้น แต่สะท้อนถึงสังคมของระบบ “ทุนนิยม” ที่เป็นเรื่องถนัดของคุณ Steinbeck อ่านแล้วได้หลายความรู้สึกปนกัน ตั้งแต่ทอดถอนใจ ไปจนถึงประทับใจในความรัก ความผูกพันธ์ของคนในครอบครัว
เรื่องเกิดจากครอบครัวตระกูลโจ๊ด อาศัยอยู่ในโอกลาโฮม่า เป็นหนึ่งในหลายร้อยครอบครัวที่ถูกขับไล่ออกจากที่ทำกินของตัวเอง เนื่องด้วยเหตุผลว่า เจ้าของที่ดินไม่ให้อยู่อีกต่อไป หากไม่มีที่ดินทำกิน ก็ไม่มีงาน และไม่มีเงิน ครอบครัวนี้ก็มีความหวังที่ได้จากใบปลิวบอกว่ามีงานในไร่ให้ทำในแคลิฟอร์เนีย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่ยิ่งใหญ่ สมาชิกครอบครัวทุกคนล้วนมีบทบาทแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ ปู่ ย่า เฒ่าทอม อาจอห์น แอล ทอม ผู้เพิ่งออกจากคุกเพราะข้อหาฆ่าคนตาย และยังถูกภาคทัณฑ์ แคซี่ ผู้ที่มีหัวใจบริสุทธิ์ อดีตนักเทศน์ ที่ขอติดตามการเดินทางไปตะวันตกด้วย และอีกหลายชีวิต ทั้งหมดนี้ ส่วนตัวมองว่า มิสซิสโจ๊ด เป็นผู้ที่มีหัวใจที่เข้มแข็งที่สุด สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น และไม่เคยหมดหวัง ระหว่างการเดินทาง ครอบครัวนี้ได้เจออุปสรรคมากมาย และก็ไม่รู้ว่าจะเจออะไรอีกข้างหน้า ภายใต้สังคมที่เห็นเงินเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง จนทำให้สุดท้ายแล้วก็ต้องแยกย้ายแตกกระจายกันออกไป เพื่อความอยู่รอดของแต่ละคน
ส่วนตัวชอบสไตล์การเขียนเรื่องนี้ คือ แต่ละบทของชีวิตครอบครัวโจ๊ด จะถูกคั่นด้วยบทที่เหมือนเขียนบอกเล่าเรื่องราว เชิงบรรยายภาพเหตุการณ์ หรือความรู้สึกในสภาวะที่ใกล้เคียงกับที่ครอบครัวโจ๊ดกำลังเผชิญอยู่ เหมือนเป็นฉากพักให้เราได้เตรียมพร้อมกับฉากใหม่ของตัวละครในบทถัดไป
อ่านจบแล้ว ก็ได้ข้อคิดว่า ตัวเรานั้นคงหนีไม่พ้นระบบทุนเป็นแน่แท้ แต่คงจะอยู่ที่ว่าเราสามารถปรับตัวของเราเองให้มีความสุขกับระบบนี้ได้มากน้อยแค่ไหน
อ่านมา 3 เรื่องของ Steinbeck แล้ว คือ Of mice and men/เพื่อนยาก Tortilla flat/ตอร์ติญ่า แฟลต/โลกียชน และเรื่องนี้ ส่วนตัวก็ยังชอบ Tortilla flat มากที่สุดค่ะ ❤
Comments